“มิงกาลาเจดีย์” (Mingala Zedi Pagoda) มงคลเจดีย์ ในวาระสุดท้าย



เมืองพุกามเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ติดอันดับเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศเมียนมาร์หรือพม่าเพื่อนบ้านของเรานี่เองครับ   จนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในเมืองพุกามได้ให้ฉายาว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์เพราะมีเจดีย์มากกว่า 4000 องค์ด้วยกัน

มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายในเมืองพุกามแห่งนี้ที่เราได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อนๆ ซึ่งเพื่อนๆสามารถหาดูได้ในเว็บบล็อกแห่งนี้ครับ แต่ล่ะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและอยากแนะนำให้เพื่อนๆได้ลองไปสัมผัสกันดูครับ

นอกกำแพงเมืองพุกามออกไป หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในลิสรายชื่อที่เที่ยวต้นๆในเมืองพุกาม และก็เป็นอีกหนึ่งเจดีย์ที่เราจะแนะนำเพื่อนๆกันด้วยครับ

มิงกาลาเจดีย์” (Mingala Zedi Pagoda) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “มงคลเจดีย์” หนึ่งในสถานที่ยอดฮิตในการชมพระอาทิตย์ตกดินและชมทะเลเจดีย์ที่กว้างใหญ่ไพรศาลในเมืองพุกาม




ในรัชสมัยของ “พระเจ้านรสีหปติ” กษัตริย์ในลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์พุกาม  ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยดุร้าย และไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา แต่ก็ทรงบัญชาให้สร้าง “มิงกาลาเจดีย์” หรือ “มงคลเจดีย์” ตามโบราณราชประเพณี โดยสร้างเลียนแบบมหาเจดีย์ชเวสิกอง ในสมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช

พระองค์โปรดให้จารึกไว้ที่เจดีย์แห่งนี้ว่า พระองค์ทรงเป็นจอมทัพผู้บังคับบัญชาไพร่พลขนาดมหึมาถึง 36 ล้านคน เสวยแกงกะหรี่วันละ 300 จาน และทรงมีนางสนม 3,000 คน (รู้สึกว่าจะโอเวอร์ไปหน่อย ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)

ในขณะนั้น “กุบไลข่าน” จอมทัพแห่งมองโกลก็กำลังแผ่อิทธิพลลงมาทางจีนตอนใต้ เพื่อผนวกแคว้นยูนนาน พร้อมเรียกร้องให้พุกามส่งบรรณาการไปถวายจอมจักรพรรดิที่ปักกิ่ง แต่ทางพุกามปฏิเสธ มิหนำซ้ำยังสั่งประหารคนนำสารอีกด้วย

ครั้นเมื่อพระเจ้านรสีหปติ ทรงสร้างมิงกาลาเจดีย์ ก็เกิดมีคำทำนายว่า หากสร้างเสร็จจะเกิดหายนะ แต่เมื่อทรงยุติการก่อสร้างไว้ถึง 3 ปี ก็มีเสียงร่ำลือว่าการสร้างเจดีย์ไม่เสร็จถือเป็นอัปมงคลแก่แผ่นดินยิ่งนัก …

ท้ายที่สุด พระเจ้านรสีหปติ ทรงดำเนินการก่อสร้างต่อจนเสร็จ ระหว่างนั้นทรงรู้อยู่แก่ใจว่า มองโกลต้องลงโทษพระองค์ จึงทรงเตรียมการก่อสร้างกำแพงป้องกันเมืองถึง 3 ชั้น เพราะต้องสร้างอย่างรีบเร่ง พระองค์ถึงกับบัญชาให้รื้ออิฐจากเจดีย์หลายแห่งมาก่อกำแพง ซึ่งแน่นอนว่า พระองค์ไร้ซึ่งความนับถือศรัทธาจากอาณาราษฎรของพุกาม

พุทธศักราช 1826 กองทัพมองโกลรุกเข้าตีอาณาจักรพุกามแตก โดยกำแพง 3 ชั้นมิอาจจะช่วยอะไรได้ พระเจ้านรสีหปติเสด็จหนีออกจากพุกาม จนประชาชนขนานนามว่า “ตโยกะปเยมิน” หรือ กษัตริย์ผู้วิ่งหนีจีน


* สำหรับที่มาของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของเจดีย์แห่งนี้ ต้องขอขอบคุณข้อมูล oknation.net ที่ได้นำเรื่องราวจากหนังสือ ท่องเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล มาเล่าต่อกันฟังครับ


การเข้าไปชมเจดีย์ก็เหมือนเจดีย์องค์อื่นๆทั่วไป บนทางเดินในชั้นที่สามของเจดีย์ เราพบว่าสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทุ่งเจดีย์ที่แผ่ออกไปกว้างไกล ส่วนอีกด้านหนึ่งเห็นแม่น้ำเอยาวดี ที่มองเห็นทิวเขาได้ในระยะไกล

สำหรับเจดีย์แห่งนี้ได้มีการชำรุดเสียหายไปมาก น่าเสียดายจริงๆ ที่โบราณวัตถุอันเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของสถานที่ได้สูญหายไป เหลือเพียงซากที่ผุพังตั้งตระหง่านอยู่เท่านั้น

มีคนกล่าวว่า ด้วยเหตุที่พระเจ้านรสีหปติทรงนำความล่มสลายมาสู่อาณาจักรพุกาม มิงกลาเจดีย์จึงไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างดีเท่าชเวสิกองนั่นเองครับ



0 ความคิดเห็น:

LIKE US ON FACEBOOK